ผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมและยอดแย่ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

ชีวิตการเป็นผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของ หลุยส์ ฟาน กัล กำลังเริ่มต้นขึ้น และหลังจากที่แฟนๆ เห็นเขาทำทีมชาติฮอลแลนด์ทำผลงานได้ดีในฟุตบอลโลกที่ผ่านมา พวกเขาก็หวังจะเห็นนายใหญ่ชาวดัตช์ร่ายมนตร์กับทีมปีศาจแดงต่อในฤดูกาลนี้
ฟาล กัล เองก็คงหวังว่าเขาจะจบลงด้วยการเป็นตำนานที่น่าจดจำมากกว่าคนที่แฟนๆ ไม่ชื่นชอบ และนี่ก็คือรายชื่อผู้จัดการทีมปีศาจแดง 10 คนที่ยอดเยี่ยม และยอดแย่ในหน้าประวัติศาสตร์ของสโมสร
1. เออร์เนสต์ มังนัลล์ (1903-1912)
ก่อนหน้านี้เขาทำงานเป็นเลขาธิการให้กับนิวตัน ฮีธ จากนั้น เออร์เนสต์ มังนัลล์ ก็มารับตำแหน่งผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนชื่อมาใหม่ๆ ในปี 1903 และเขาก็กลายเป็นชายคนแรกที่นำถ้วยแชมป์เข้ามาสู่สโมสร
เขาพายูไนเต็ดคว้าแชมป์ลีกได้ในปี 1908 ปูเส้นทางสู่ความเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จที่สุดในวงการฟุตบอลอังกฤษ
แม้ว่าเขาจะเป็นโค้ชให้กับทีมตั้งแต่เกินกว่า 100 ปีที่แล้ว แต่มังนัลล์ก็ยังคงเป็นผู้จัดการทีมคนที่ทำทีมประสบความสำเร็จที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ด้วยการคว้าแชมป์ลีก 2 สมัย, เอฟเอ คัพ 1 สมัย และแชริตี้ ชิลด์ อีก 2 สมัย
มังนัลล์เคยสร้างความประหลาดใจให้กับแฟนบอลในปี 1911 ด้วยการย้ายออกจากยูไนเต็ดไปคุมทีมคู่แข่งร่วมเมืองอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้
2. สก็อตต์ ดันแคน (1932-1937)
สก็อตต์ ดันแคน ถือสถิติพาทีมยูไนเต็ดจบอันดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์สโมสร ในฤดูกาลที่ 2 ที่เขาเข้ามาทำทีมนั้น ทีมปีศาจแดงจบอันดับที่ 20 ในดิวิชั่น 2 ช่วงเวลาแห่งความสำเร็จในเอฟเอ คัพ รวมถึงดิวิชั่น 1 จากยุคมังนัลล์ได้หายไปในทันที
ดันแคนแก้ตัวได้ในปี 1936 ด้วยการพาทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เลื่อนชั้นกลับขึ้นมาในดิวิชั่น 1 แต่ก็โชคร้ายที่สโมสรต้องตกชั้นลงไปอีกในฤดูกาลถัดมา และคราวนี้เวลาของดันแคนในฐานะผู้จัดการทีมปีศาจแดงก็สิ้นสุดลง
3. แมตต์ บัสบี้ (1945-1971)
หลังจากพยายามอยู่ 4 ครั้ง ในที่สุด แมตต์ บัสบี้ ก็คว้าแชมป์ลีกสมัยแรกกับยูไนเต็ดได้สำเร็จในปี 1952 และเขาก็ได้ปั้นนักเตะดาวรุ่งก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักในอนาคตของทีม
ทีมชุดที่เต็มไปด้วยผู้เล่นอายุน้อยนั้นได้รับการขนานนามว่า บัสบี้ เบบส์ และพวกเขาก็คว้าแชมป์ลีกได้ 2 สมัยติด น่าเสียดายที่ทีมชุดนั้นต้องมาพบกับโศกนาฏกรรมในปี 1958 ซึ่งได้คร่าชีวิตนักเตะไปหลายคน และบัสบี้เองก็ต้องใช้เวลาอยู่นานกว่าจะฟื้นฟูสภาพร่างกายอันบอบช้ำจากเหตุการณ์ครั้งนั้น
อย่างไรก็ตามมันก็ไม่ได้ทำให้ความปรารถนาที่จะพายูไนเต็ดประสบความสำเร็จของเขาลดน้อยลงเลย และกุนซือชาวสก็อตก็ได้สร้างทีมชุดใหม่ขึ้นมาคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ, แชมป์ลีก ตบท้ายด้วยการคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ เป็นสมัยแรก
ผู้จัดการทีมที่ประสบความสำเร็จสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของสโมสรอำลาทีมไปในปี 1969 แต่ก็ต้องหวนกลับมารับตำแหน่งอีกรอบเพียงแค่ 6 เดือนหลังจากนั้น เพราะ วิลฟ์ แม็คกินเนสส์ ไม่สามารถรับมือกับแรงกดดันในการเข้ามารับงานตรงนี้ได้นั่นเอง
4. แฟรงค์ โอฟาร์เรลล์ (1971-1972)
หลังจากบัสบี้อำลาทีมเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย แฟรงค์ โอฟาร์เรลล์ ก็ได้เข้ามารับตำแหน่ง โดยฤดูกาลแรกเขาพาทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จบอันดับที่ 8 ในลีก และอดีตกุนซือเลสเตอร์ที่เคยพาทีมเลื่อนชั้นขึ้นมาเมื่อปีก่อนก็ถูกคาดหมายว่าจะทำผลงานได้ดีขึ้นในฤดูกาลถัดไป
น่าเศร้าที่โอฟาร์เรลล์แทบไม่ได้ทำให้ทีมพัฒนาขึ้นเลยในแง่ของฟอร์มการเล่นตลอดช่วงเวลา 18 เดือนที่เขาคุมทีม แถมเขายังคุมนักเตะไม่อยู่ โดยเฉพาะกับ จอร์จ เบสต์
5. ทอมมี่ ด็อคเคอร์ตี้ (1972-1977)
ทอมมี่ ด็อคเคอร์ตี้ เข้ามาทำหน้าที่ในถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ด เมื่อปี 1972 และเป้าหมายแรกของเขาก็คือการป้องกันไม่ให้ทีมร่วงลงไปเตะในลีกระดับ 2 ของอังกฤษเป็นครั้งที่ 5
ทว่าด็อคเคอร์ตี้ก็ไม่สามารถทำให้ยูไนเต็ดอยู่รอดในดิวิชั่น 1 ต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม หลังพบกับความผิดหวัง ในฤดูกาลต่อมาของเขา ทีมปีศาจแดงก็สามารถทำอันดับเลื่อนชั้นกลับขึ้นมาเตะในลีกสูงสุดได้สำเร็จ
เขาใช้เวลาไม่นานในการพาทีมประสบความสำเร็จ ยูไนเต็ดเอาชนะลิเวอร์พูลคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ในปี 1976 อย่างไรก็ตามเขาถูกสั่งให้ออกจากสโมสร หลังจากที่ถูกแฉว่าแอบไปมีความสัมพันธ์กับภรรยาของนักกายภาพบำบัดของสโมสร
6. เดฟ เซ็กส์ตัน (1977-1981)
เดฟ เซ็กส์ตัน เข้ามาทำหน้าที่แทนด็อคเคอร์ตี้ที่ถูกปลดไป แต่แม้ว่าเขาจะพาทีมจบอันดับที่ 2 ในลีกได้ในฤดูกาล 1979/80 และคว้ารองแชมป์เอฟเอ คัพ 1979 อดีตนายใหญ่คิวพีอาร์ และเชลซีก็ไม่เป็นที่ชื่นชอบของแฟนๆ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เขาจะต้องอำลาทีมไป
หลังจากผ่านไป 4 ฤดูกาลแบบไร้แชมป์ เซ็กส์ตันก็ยุติบทบาทของเขาในเดือนเมษายน 1981
7. รอน แอตกินสัน (1981-1986)
รอน แอตกินสัน เข้ามาเป็นผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในปี 1981 โดยได้รับความศรัทธาจากแฟนๆ พวกเขาเชื่อว่าอดีตกุนซือเวสต์ บรอมวิชจะสามารถนำทีมกลับมายิ่งใหญ่ได้หลังจากยุคของ เดฟ เซ็กส์ตัน 4 ปี
การแต่งตั้งแอตกินสันครั้งนี้ดูเหมือนเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เมื่อยูไนเต็ดจบอันดับที่ 3 ในลีกได้ในฤดูกาล 1981/82 ก่อนที่จะคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ได้ในปีต่อมา
แอตกินสันพาทีมคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ได้อีกครั้งในช่วงเวลา 5 ปีของเขาในถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ด แต่เขาก็ถูก อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ก้าวเข้ามาทำหน้าที่แทนในช่วงระหว่างฤดูกาล 1986/87
8. เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน (1986-2013)
อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ก้าวเข้ามาเป็นผู้จัดการทีมยูไนเต็ด หลังจากประสบความสำเร็จกับอเบอร์ดีนมา 8 ฤดูกาล ในช่วงที่คุมทีมในสก็อตแลนด์ เขาพาทีมประสบความสำเร็จในเวทียุโรป แถมยังแย่งแชมป์ลีกในประเทศจาก 2 ยักษ์ใหญ่อย่างเรนเจอร์ส และเซลติกได้อีก
ในช่วงแรกของเขากับงานที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด ก็ไม่ได้ง่ายนัก มีรายงานข่าวออกมาว่าเขาอาจถูกปลดด้วยซ้ำหากไม่สามารถพาทีมคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ได้ในปี 1990
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็อย่างที่ทุกคนเห็น เขาพาทีมปีศาจแดงยุติการรอคอยอันยาวนาน 26 ปีด้วยการคว้าแชมป์ลีกได้สำเร็จ รวมแล้วเขาคว้าแชมป์พรีเมียร์ ลีก ได้ 13 สมัย, เอฟเอ คัพ 5 สมัย, ลีก คัพ 4 สมัย และแชมเปี้ยนส์ ลีก อีก 2 สมัย ทำให้เฟอร์กูสันเป็นผู้จัดการทีมที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไปแบบไร้ข้อกังขา
9. เดวิด มอยส์ (2013-2014)
หลังจากที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ตัดสินใจยุติบทบาทของตัวเองลงไป เดวิด มอยส์ ของเอฟเวอร์ตันก็ถูกเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่ต่อจากเขาในถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ด
น่าเศร้าที่มันไม่เวิร์คสำหรับชายชาวสก็อตคนนี้ มอยส์พบแต่ความผิดหวังอยู่ตลอด และเวลาของเขากับทีมปีศาจแดงก็ช่างแสนสั้น
เขาอาจะเริ่มต้นงานได้สวยด้วยการคว้าแชมป์คอมมิวนิตี้ ชิลด์ โดยเอาชนะวีแกนได้ในช่วงเปิดฤดูกาล 2013/14 แต่หลังจากนั้นผลงานในพรีเมียร์ ลีก ก็ตกต่ำเป็นอย่างมาก โดยทีมหมดลุ้นแย่งแชมป์ตั้งแต่ไก่โห่ และมอยส์ก็ถูกปลดไปในเดือนเมษายน 2014
10. ไรอัน กิ๊กส์ (2014)
ไรอัน กิ๊กส์ ถูกแต่งตั้งให้รับหน้าที่ผู้จัดการทีมชั่วคราวสำหรับ 4 เกมสุดท้ายของฤดูกาล 2013/14 และก็ทำให้แฟนๆ ยูไนเต็ดเริ่มมองเห็นอนาคตอันสดใส ภาพของกิ๊กส์ที่ยืนอยู่เส้นข้างสนามในฐานะผู้จัดการทีมนั้นทำให้แฟนๆ ปรบมือให้กับเขาอย่างกึกก้อง
จากนั้นปีกชาวเวลส์ก็ประกาศแขวนสตั๊ด และเขาก็ยอมรับว่ายังไม่พร้อมสำหรับการเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทีมแบบเต็มตัว เขาได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีมให้กับ หลุยส์ ฟาน กัล ซึ่งถือเป็นการบ่มเพาะประสบการณ์สำหรับเขาก่อนที่เขาอาจจะมารับหน้าที่นายใหญ่ของทีมก็ได้ในอนาคต
SiR KeaNo

2001-2024 RED ARMY FANCLUB Official Manchester United Supporters Club of Thailand. #ThaiMUSC

Related Posts

Max